สีและอุปกรณ์ศิลปะ

หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ผลงาน อาจารย์อิทธิพล ตั้งโฉลก







ศิลปิน  อิทธิพล ตั้งโฉลก
ชื่อภาพ  ตำนานน้ำและไฟแห่งนิรันดร์
ประเภท  จิตรกรรมฝาผนัง
ขนาด  3.05 x 22.00 เมตร
สถานที่  LOWER BANK
วัตถุประสงค์

  1. จิตรกรรมชิ้นนี้เป็นเรื่องราวของน้ำและไฟที่เป็นสัญลักษณ์ของพลังอำนาจแห่งการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม เป็นสัญลักษณ์แห่งความมุ่งมั่นและกระตือรือร้น และเป็นสัญลักษณ์แห่งความเจริญก้าวหน้า รวมทั้งเป็นสัญลักษณ์ของพลังแห่งอารมณ์ความรู้สึก
  2. รูปแบบของจิตรกรรมชิ้นนี้ จะมีลักษณะเฉพาะตัวเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร และจะมีลักษณะเป็นไทยร่วมสมัยไม่เลียนแบบศิลปะไทยประเพณี และไม่เหมือนแบบอย่างใดๆ ของศิลปะตะวันตก
  3. งานชิ้นนี้จะเป็นงานชิ้นเอก ในประวัติศาสตร์ศิลปะของประเทศไทย ที่สมบูรณ์ลงตัวพร้อมทั้งด้านเรื่องราวเนื้อหา รูปแบบและเทคนิค


แนวความคิด
จากความเชื่อทางศาสนาพุทธ และความรู้ในวิชาฟิสิกส์สมัยใหม่ ที่ว่าทุกสิ่งในจักรวาลล้วนแต่เคลื่อนไหวเลื่อนไหลและเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ไม่มีอะไรหยุดนิ่ง ไม่มีอะไรคงอยู่สภาพเดิมได้ สิ่งที่หยุดนิ่งทั้งมวลล้วนเป็นมายา แต่ในการทำงานศิลปะเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวนั้น ไม่อาจจะแสดงออกให้ประจักษ์ชัดได้ ถ้าไม่มีสิ่งตรงกันข้ามขัดแย้งเปรียบเทียบ ดังคำกล่าวในคัมภีร์เต๋าที่ว่า “ ความสงบนิ่งในความสงบนิ่ง มิใช่ความสงบนิ่งที่แท้จริง แต่เมื่อมีความสงบนิ่งในท่ามกลางการเคลื่อนไหวเท่านั้นท่วงทำนองแห่งวิญญาณจึงปรากฏทั้งสวรรค์และบนโลกภิภพ”
ความขัดแย้งนี้มีอยู่ในธรรมชาติทั่วไป เป็นส่วนประกอบซึ่งกันและกัน เป็นสิ่งตรงกันข้ามที่ปรากฏอยู่คู่กันอย่างเท่าเทียมกันเสมอ เช่น กลางวันกับกลางคืน ผู้หญิงกับผู้ชาย ความสวยงามกับความน่าเกลียด ความดีกับความชั่ว ดังที่เหลาจื้อนักปราชญ์ชาวจีน ได้กล่าวไว้ว่า “ เมื่อทุกคนในโลกนี้เห็นสิ่งที่สวยงามว่าสวยงาม เมื่อนั้นความน่าเกลียดก็ปรากฏ เมื่อเข้าใจความดีว่าเป็นความดี ความชั่วก็ปรากฏ”
ความขัดแย้งในผลงานยุคแรก ๆ เป็นเรื่องราวของ รูปและความว่าง ระเบียบกฎเกณฑ์กับอิสระใหม่กับเก่า เรื่องราวความขัดแย้งในผลงานแต่ละชุด ในแต่ละช่วงเวลาแตกต่างกันไป ในระยะนี้ความขัดแย้งเป็นเรื่อง ของจิตวิญญาณกับร่างกาย หรือ จิตกับวัตถุ ความเคลื่อนไหวกับความนิ่งสงบ และน้ำกับไฟเป็นต้น
ความหมายของภาพ
แสดงออกถึงเรื่องราวของน้ำ และ ไฟ ที่เป็นสัญลักษณ์ทางนามธรรมของปรัชญาความเชื่อ จิตกับความคิดและอารมณ์ความรู้สึกภายใน ในเรื่องที่เป็นพลังที่มีอานุภาพมหาศาลอยู่สุดขั้วตรงกันข้ามระหว่าง ความเร่าร้อนกับความเยือกเย็น เปรียบเทียบเคียงกันเป็นคู่ ๆ 10 ช่อง แต่ละช่องเป็นเสมือนหน้าของหนังสือ แต่ละหน้าที่พรรณนาถึงเรื่องราวตำนานความเป็นไปของน้ำและไฟ ในลักษณะต่าง ๆ เทียบเคียงกันไปตั้งแต่หน้า 1 ถึง 10 โดยการใช้สีทองแทนสีของไฟ และสีเงินแทนสีของน้ำ ซึ่งทั้งสีทองและสีเงินมีความหมาย ในทางดีงาม เจริญรุ่งเรืองและมีคุณค่า องค์ประกอบที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดเล็กที่เรียงเป็นแถวอย่างมีระเบียบ อยู่กึ่งกลางภาพเป็นเส้นในแนวนอน เชื่อมโยงหน้าของน้ำและไฟทั้ง 10 หน้า ให้สัมพันธ์ต่อเนื่องกันเป็นเอกภาพ และยังเป็นคู่เปรียบเทียบ ระหว่างความเคลื่อนไหว อย่างอิสระรุนแรงของน้ำและไฟ กับความสงบนิ่งเป็นระเบียบของสี่เหลี่ยมจัตุรัส
เทคนิค
ไม้อัดด้วยฟอร์ไมก้าสีเงินและสีทองเป็นชิ้น ๆ 10 ชิ้น ตามแนวความคิดแต่ละชิ้น คือ หน้าของหนังสือหนึ่งหน้าพ่นทับเป็นลวดลาย และสีสันตามแบบด้วยสีอะคริลิค อีป๊อคซี่ ที่ใช้พ่นรถยนต์เป็นขั้นสุดท้าย
ระยะเวลาดำเนินงาน
การขยายแบบลายเส้นเท่าจริงไปจนถึงขั้นพ่นสี และติดตั้งเสร็จสมบูรณ์ไม่น้อยกว่า 8 เดือน นับตั้งแต่วันเซ็นสัญญา

****************




วันพฤหัสบดีที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ผลงาน อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี








ศิลปิน  อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี
ผลงาน ศาลาศูนย์ธรรมจักรวาล
ประเภท งานไม้แกะสลัก
สถานที่ตั้งงาน ชั้น 26 อาคารสำนักงานใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์


ความเป็นมา


เริ่มต้นจากคุณธารินทร์ นิมมานเหมินท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ อยากให้อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี สร้างงานศิลปกรรมเป็นรูปศาลาเอาไว้ในตึกอาคารสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ เพราะคุณธารินทร์ไปเห็นรูปแบบมาจากอาคารในสหรัฐอเมริกา ซึ่งที่นั่นเขาได้จำลองวิหารคาร์นัคของประเทศอียิปต์ไว้ในอาคาร ในตอนแรกศิลปินคิดจะจำลองปราสาทหินพนมรุ้งมาไว้ แต่เห็นว่าจะกลายเป็นศิลปะขอมเกินไป สุดท้ายจึงสรุปว่าควรเป็นศิลปกรรมที่แสดงให้เห็นถึงความคิดรวบยอด (concept) ของศิลปะไทย ซึ่งศิลปินเห็นว่าน่าจะประกอบไปด้วยรูปแบบศิลปะที่แสดงถึงจิตวิญญาณของเชียงแสน ศรีสัชนาลัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์ โดยจำลองรูปแบบศิลปะสมัยต่างๆ ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อแสดงสุนทรียภาพโดยรวมของความเป็นไทย รวมถึงเป็นการเฉลิมฉลองในโอกาสที่พระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี เพื่อให้ได้ศาลาที่เป็นงานสร้างสรรค์ร่วมสมัย และยังคงความงามเอาไว้ได้อย่างครบถ้วน


โครงสร้างและความหมาย

เสา 4 ต้น เป็นตัวแทนของทวีปทั้ง 4 ที่ล้อมรอบโลกอยู่ตามปกีรณัมโบราณของอินเดีย โดยเสาทิศเหนือแทนอุดรทวีป ทิศใต้แทนอมรโคยานทวีป ทิศตะวันตกแทนชมพูทวีป ทิศตะวันออกแทนปุรพวิเพ ซึ่งเสาทั้ง 4 ต้น อยู่บนอ่างสีดำ ซึ่งหมายถึงตัวแทนของโลก , จักรวาล ความคิดนี้เป็นแรงบันดาลใจมาจากภาพเขียนโบราณที่มีสันเขาพระสุเมรุอยู่ ศาลานั้นแบ่งเป็น 3 ชั้น ชั้นที่ 3 แบ่งย่อย ออกเป็น 2 ชั้นอีกด้วย รวมเป็น 4 ชั้น แทนความหมายมหาสติปัถฐาน 4 คือ กายานุปฏิปทา, เวทนานุปฏิปทา,จิตตานุปฏิปทา,และ ธรรมานุปฏิปทา ซึ่งเป็นธรรมที่นำไปสู่อริยมรรค หรือความหลุดพ้นทางพุทธศาสนา สำหรับช่อฟ้า,กาแล แทนธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่บริเวณปลายยอดของศาลาจะมี บราลี 8 อัน เปรียบได้กับอริยมรรค (มรรคมีองค์ 8) ซึ่งเป็นสุดยอดของการนำไปสู่การหลุดพ้น ลักษณะศาลาเปลือย เพื่อต้องการให้มองเห็นได้จากทุกทิศ และส่วนประกอบที่พิเศษมากอีกชิ้นหนึ่งคือ หางหงส์ที่ศาลาชั้นที่ 1 เพราะว่าเป็นศูนย์รวมของความคิดในการสร้างศาลาร่วมสมัยนั่นคือ พนัสบดี ซึ่ง เป็นตรีมูรติของ พระศิวะ (ทรงโค) , พระพรหม (ทรงหงส์) และพระนารายณ์ (ทรงครุฑ) โดยเป็นวัวมีเขาปกติแต่มีปีกเป็นหงส์และมีปากเป็นครุฑ


ลักษณะสำคัญ

ลายกนกทั้งหมดจะเป็นลายคมกริช ซึ่งมีเฉพาะที่อยุธยาเท่านั้น ปัจจุบันยังคงเหลืออยู่ที่วัดหน้าพระเมรุ (สมัยพระนเรศวร) อีกประการหนึ่งคือเป็นศิลปกรรมร่วมสมัยตั้งแต่เชียงแสนถึงรัตนโกสินทร์ โดยแต่ละสมัยจะมีตัวแทนแตกต่างกันออกไป ได้แก่ ล้านนา-กาแล , อยุธยา- คมกริช , สุโขทัย-บราลี, คันทวย


ความรู้สึกของศิลปินในการสร้างงานศิลปะ

ต้องการให้ศาลานี้เป็นตัวแทนของ ทวีปทั้ง 4 , ทิศทั้ง 8, พนัสบดี , ธาตุ 4 , อริยสัจ และสุดท้ายคือ อริยมรรค การสร้างสรรค์ผลงานในอาคารแห่งนี้ นับว่าทรงพลัง มีสถาปัตยกรรมที่ดี เป็นกระแสวัฒนธรรมร่วมสมัย มีผลงานจิตรกรรมประติมากรรมมากมายรวมอยู่ด้วย จึงไม่รู้สึกอะไรที่ผลงานอยู่ในตัวตึก ถึงแม้ว่าจะไม่ค่อยมีผู้ใดได้ชื่นชมผลงานมากนัก อีกทั้งยังรู้จักตน รู้จักประมาณ และกาลเวลาอยู่แล้วด้วย


******************




วันอังคารที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ผลงาน อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์








ศิลปิน อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์


ชื่อภาพ เทพเชื้อเชิญ
ประเภท จิตรกรรมสีอะคริลิคและดินสอดำ บนพื้นผ้าใบ
ขนาด 2.50 x 1.90 เมตร
สถานที่ตั้งงาน ตั้งอยู่บริเวณ BANKING HALL (UPPER BANK) ด้านขวา

เทคนิค
สีอะคริลิค และดินสอดำบนพื้นผ้าใบ จากนั้นใช้สเปรย์เคลือบทับ แล้วส่วนที่เป็นสีจะลงสีทับอีกครั้ง ส่วนที่เป็นเงาจะลงดินสอสีดำทับอีกครั้ง เป็นเทคนิคใหม่ล่าสุด ซึ่งใช้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย
แนวความคิด
ต้องการให้คนที่เดินเข้ามารู้สึกว่ามีเทพคอยเชื้อเชิญให้คนเข้ามาในอาคาร ซึ่งวาดเป็นรูปเทวดาผายมือให้เห็นว่าเข้ามาได้เลย
ความหมายของภาพ
รุกขเทวดาผายมือเชื้อเชิญให้คนที่เดินเข้ามาในธนาคารนั้น ทำให้ผู้เข้ามามีความรู้สึกว่ามีเทพคอยคุ้มครองดูแลรักษาอยู่ ดอกบัวและพญาครุฑ แสดงให้เห็นถึงการคุ้มครองจากพระมหากษัตริย์ รูปดอกไม้ คือ การแซ่ซ้องสรรเสริญจากสวรรค์ รูปธนาคารเป็นแก้วผลึก เปรียบเช่น พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ กรอบประตูนั้นหมายถึงผู้ปฏิบัติดีต้องอยู่ในกรอบของธรรมะ ประชาชนที่กราบไหว้บูชาเทวดาก็เปรียบดั่งกับพนักงานของธนาคารก็ได้ ภาพนี้จะให้ความรู้สึกเต็มไปด้วยความรัก ความสัมพันธ์ที่ดีกับธนาคาร
ระยะเวลาดำเนินการ ใช้เวลาประมาณ 3 เดือน เขียนพร้อมกับรูป “ราหูอมตะวัน”


*******************