สีและอุปกรณ์ศิลปะ

หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2558

บุญหมั่น คำสะอาด




ศิลปิน   บุญหมั่น คำสะอาด 
ชื่อภาพ   ท่าขอนยางวังสามหมอ
ประเภท   ปากกาลูกลื่นบนผ้าใบ
ขนาดภาพ   305x176 ซม.



การบ่มเพาะเมล็ดพันธ์ุที่จะเติบโตเป็นศิลปินผู้สร้างสรรค์ศิลปะไทยร่วมสมัยนั้น  เริ่มต้นเมื่อมีการเรียนการสอนศิลปะตามหลักวิชา (Acadamic Art) ในมหาวิทยาลัยศิลปากร  ในขณะที่โรงเรียนเพาะช่างเป็นแหล่งผลิตบุคคลากรทางด้านศิลปะมากมายมาก่อนหน้านั้น ศิลปินผู้มีชื่อเสียงระดับประเทศส่วนใหญ่เริ่มต้นจากสถาบันแห่งนี้  อาทิ  ชลูด นิ่มเสมอ ถวัลย์ ดัชนี   เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ช่วง มูลพินิจฯลฯ
     บุญหมั่น คำสะอาด เป็นอีกศิลปินไทยท่านหนึ่งจบการศึกษาศิลปะสถาบันศิลปะแห่งนี้ และกลับสู่บ้านเกิด จ.มหาสารคาม ในฐานะศิลปินและครูผู้สอนศิลปะ ในขณะที่ ถวัลย์ ดัชนี ซึ่งมีอายุเท่ากันตัดสินใจศึกษาต่อ ณ  มหาวิทยาศิลปากร ในฐานะลูกศิษย์รุ่นท้ายๆของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี 
 นับได้ว่าเวทีการประกวดศิลปกรรมแห่งชาติในสมัยนั้นมีอิทธิพลอย่างมากต่อแนวความคิดในการสร้างสรรค์ศิลปะ  เป็นเวทีที่จะสามารถแสดงตัวตนให้เป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับในวงกว้างได้ เขาได้ส่งผลงานเข้าสู่เวทีประกวดและได้ร่วมแสดงในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาตินับตั้งแต่ ครั้งที่ 32 เรื่อยมา กระทั่งใน ปี พ.ศ.2532  ในวัย 50 ปี เขาได้รับรางวัลเกียรตินิยมอันดับ 3 เหรียญทองแดง ในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 35 
     เขามีความหลงใหลวัฒนธรรมอีสานเป็นอย่างมาก เงินเดือนที่ได้รับจากการเป็นข้าราชการครูส่วนใหญ่ถูกใช้ในการซื้อของเก่าที่เขาคิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่องานด้านวัฒนธรรม อาทิ พระพุทธรูปไม้แกะสลัก ตะเกียงเจ้าพายุ  เครื่องปั้นดินเผา เครื่องจักสาน อุปกรณ์ดักสัตว์ของชาวอีสาน กระโหลกและเขาควายทั้งแบบที่หาได้ทั่วๆไป กระทั่งเขาที่มีรูปทรงที่หายากยิ่ง กว่า 50 ปี กับสะสมของเหล่านี้  ใน ปี พศ. 2541 ก็เปิดตัวนำผล
งานทั้งหมดมาเรียบเรียงและจัดแสดงอย่างเป็นทางการ โดย ขึ้นป้ายหน้าบ้านว่า "พิพิธภัณฑ์บ้านเชียงเหียน" เป็นพิพิธภัณฑ์เอกชนแห่งแรกของ  จ. มหาสารคาม 
     ผลงานของเขาส่วนใหญ่จะนำเรื่องราวความเชื่อของคนอีสานมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ ด้วยกลวิธีการวาดภาพที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว  ในรายละเอียดของภาพจะเห็นความระยิบระยับของลายเส้นต่างๆ ถูกออกแบบขึ้นมาใหม่โดยศิลปินตั้งชื่อลายเหล่านี้ว่า "ลายอีสาน"ซึ่งอาศัยรูปทรง รวงข้าว ใบไม้และพืชพันธ์ุท้องถิ่นเป็นแรงบันดาลใจสำคัญ     
     ภาพ "ท่าขอนยาง วังสามหมอ" เป็นผลงานจิตรกรรมภาพวาดลายเส้นบนผืนผ้าใบขนาดใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การสร้างสรรค์ผลงานของจิตรกรไทย ในภาพมีความซับซ้อนทางรูปทรงต่างๆมากมาย รูปร่างจระเข้ยักษ์   ซากของกรามจระเข้  พ่อ
แม่ลูก  สุภาพสตรีกำลังยืนเหน็บอาวุธไว้ข้างกาย  เชือกเส้นใหญ่กับลำไม้ที่ไขว้กันไปมา  เป็นต้น ทั้งหมดเสมือนการปะติดปะต่อเรื่องราวผสมกับจินตนาการส่วนตนของศิลปินและถูกอัดแน่นด้วยจังหวะการเคลื่อนไหวของเส้นที่อยู่ในทุกอณูของรูปภาพ
      ความหลงใหลในวัฒนธรรมพื้นบ้านอีสานนี้เองทำให้ ศิลปินนำเอานิทานพื้นบ้านอีสานเรื่อง "วังสามหมอ" หรือ ตำนาน “อินถวา..นางฟ้าแห่งวังสามหมอ "มาเป็นแรงบันดาลใจสำคัญในการสร้างสรรค์ ผลงานชิ้นเอกนี้
เรื่องโดยสังเขป มีอยู่ว่า พระยาสุทัศน์และพระนางจันทราเจ้าเมืองท่าขอนยาง มีลูกสาวผู้เป็นที่รักและหวงแหนอย่างมาก ชื่อ อินถวา หรือมีอีกชื่อหนึ่งว่า นางคำบาง เธอมีความผูกพันกับจระเข้ซึ่งเป็นเพื่อนเล่นกันมาตั้งแต่วัยเยาว์ ชื่อ " ฉันท์ " แต่ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า " บักเฮ้า " จระเข้ตนนี้มีสำนึกรู้รัก รู้ผิดชอบชั่วดี เนื่องจากถูกเลี้ยงดูมาเป็นอย่างดี เวลาจะลงอาบน้ำนางก็มักจะขี่หลังบักเฮ้าลงไปเล่นน้ำเป็นประจำ        
     จนกระทั่งย่างเข้าสู่วัยสาว ศิริโฉมของนางนั้นงดงามเป็นที่เลื่องลือไปไกลสมกับเป็นลูกสาวของเจ้าเมือง ฝ่ายบักเฮ้านั้นก็ตัวใหญ่โตมากขึ้นตามอายุเช่นกัน มีความยาววัดจากหัวถึงหางยาว 12 เมตร อ้าปากได้กว้าง 4 เมตร และแล้วเหตุการณ์ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น  ในขณะที่นางคำบางลงไปอาบน้ำโดยขี่หลังบักเฮ้าเป็นปกติเหมือนกับที่เคยขี่ทุกครั้ง จู่ๆก็มีจระเข้ป่าตัวหนึ่ง ชื่อว่า บักนนท์ มีความใหญ่โตพอๆ กับบักเฮ้า มันจึงรี่เข้ามา
หมายกินนางคำบางเป็นอาหาร จึงได้เกิดการต่อสู้กันระหว่างจระเข้ทั้งสอง บักเฮ้าปกป้องนางอย่างเต็มกำลัง แต่ด้วยมีความพะวักพะวงกลัวนางคำบางจะตกจากหลังแล้วถูกบักนนท์คาบไปกิน  จึงได้ถอยผละออกจากการต่อสู้ชั่วคราว พร้อมกับคาบนางคำบางไว้ในปาก จระเข้ป่าเมื่อเห็นคู่ต่อสู้ผละหนีจึงได้ที ตรงรี่เข้าไปไล่ทำร้ายเป็นการใหญ่ ด้วยสัญชาตญาณบักเฮ้าจึงได้หันกลับไปต่อสู้อีกครั้งและหลงกลืนนางคำบางลงไปในท้อง  ด้วยความกลัวโทษหนักจึงตัดสินใจหนีเพื่อรักษาชีวิตตนเอง ลัดเลาะตามลำน้ำชีแต่เพียงลำพัง  ในขณะที่เจ้าเมืองได้จัดกองกำลังตามล่าด้วยความแค้น หนีมาถึงวังน้ำขนาดใหญ่  เมื่อกองกำลังไล่ล่าตามรอยมาถึง หมอจระเข้ผู้ขมังเวชย์สองคนแรก คือ "หมอบุญ" และ"หมอพรหม" ลงไปจับก็ไม่มีผู้ใดโผล่ขึ้นมาจากน้ำเลยจึงเหลือแต่หมอคนที่ 3 เป็นจอมขมังเวชย์ผู้หญิง ชื่อว่า "ยาแม่คำหม่อน" ยาแม่ได้พิจารณารอบคอบแล้วเห็นว่า หมอ
บุญกับหมอพรหม นั้นถูกบักเฮ้ากินแน่แล้ว 
     ยาแม่จึงได้ใช้มนต์คาถาแหวกน้ำให้เป็นช่องลงไปตรวจดู พบถ้ำอยู่ทางด้านใต้ของวัง และเห็นบักเฮ้าอยู่ในลักษณะอ้าปากปิดปากถ้ำจึงคิดได้ว่าหมอบุญกับหมอพรหม คงหลงกลเดินเข้าไปในปากบักเฮ้าโดยนึกว่าเป็นปากถ้ำ และคงถูกบักเฮ้ากลืนกินในลักษณะนี้  เมื่อแน่ใจดังนั้นแล้วยาแม่จึงได้ขึ้นมาจากน้ำ แล้วให้ไพร่พลทั้งหลายออกไปหาตัดหวายเส้นขนาดใหญ่มาให้มากที่สุด  แล้วมัดเป็นเกลียวให้ได้ขนาดเส้นละเท่าแขนคน จำนวน 3 เส้น แต่ละเส้นให้ยาว 50 เมตร เป็นอย่างน้อย
      เมื่อได้หวายแล้วไพร่พลจึงได้ช่วยกันฝั้นเป็นเกลียวตามคำสั่งของยาแม่จนเสร็จเรียบร้อย  เสร็จแล้วนำหวายทั้ง 3 เส้น มา
ต่อกันผูกกึ่งกลางของเหล็กแหลม ที่แหลมเป็นฉมวก ทั้งสองด้าน มีเหล็กค้ำยันปากจระเข้อยู่ในตัว ป้องกันไม่ให้งับลงมาได้ ปลายเชือกหวายข้างหนึ่งนำไปผูกไว้กับโคนต้นประดู่ขนาดใหญ่ เมื่อทุกอย่างเป็นที่เรียบร้อยแล้วยาแม่จึงได้ร่ายมนต์คาถาแหวกน้ำลงไปอีกครั้ง บักเฮ้ายังเตรียมพร้อมอยู่ในลักษณะเดิม ยาแม่ได้ถือเหล็กแหลมทางตั้งเดินตรงเข้าไปในปากบักเฮ้า ฝ่ายบักเฮ้าเมื่อเห็นคนเดินเข้ามาในปากลึกพอประมาณ  จึงได้งับปากลงมาอย่างแรง เสียงดังก้องทั่ววังน้ำ  ด้วยความแรงของการงับ  ทำให้เหล็กแหลมเสียบประกบปากทั้งบนและล่างจนทะลุไม่สามารถถอนหรืองับลงมาได้อีก ยาแม่เห็นได้ทีจึงรีบออกจากปากแล้วขึ้นฝั่งพร้อมสั่งกำลังพลทั้งหมดให้ช่วยกันลากดึง   
ฝ่ายบักเฮ้าเมื่อถูกเหล็กประกบปากจนทะลุ ได้พยายามดิ้นรนจนสุดกำลังเพื่อให้ตัวเองเป็นอิสรภาพ  แรงดิ้นทำให้ปากถ้ำพังทลาย เกิดน้ำปั่นป่วนทั้งวังกระทั่งหนึ่งวันหนึ่งคืนเต็มๆ บักเฮ้ารู้สึกอ่อนระโหยโรยแรง สุดท้ายเมื่อกำลังพลสามารถนำจระเข้ยักษ์ขึ้นจากน้ำได้แล้ว  บักเฮ้ามีอาการปลงตก น้ำตาไหลตลอดเวลา พร้อมทั้งคิดว่า ถ้าหากคนเหล่านี้รู้สึกสักนิดว่า ที่เรากลืนนางคำบางลงไปในท้องนั้น เราไม่ได้มีเจตนาแต่เราทำไปด้วยความกลัวว่านางจะได้รับอันตรายจาการกระทำของบักนนท์ต่างหาก ถึงอย่างไรเราก็คงจะหนีความตายไปไม่พ้น ยอมให้เขาฆ่าเสียดีกว่า คิดได้ดังนั้นจึงอยู่ในลักษณะนิ่งเฉย บรรดาไพร่พลทั้งหลายจึงพากันเข้ารุมฆ่าบักเฮ้าเป็นการใหญ่ ได้ฆ้อน 
ขวาน เหล็กแหลม และอาวุธอีกมากมาย ตีแทง ฟัน ตั้งแต่หัวตลอดหาง บักเฮ้าได้รับความเจ็บปวดทมารมากและตายในที่สุด
     เจ้าเมืองสั่งให้ไพร่พลผ่าท้องจระเข้  เมื่อผ่าท้องออกมาก็ได้พบศพหมอจระเข้ 2 คน รวมทั้งศพนางอินถวา ซึ่งยังมีเป็นบางส่วนหลงเหลืออยู่ เจ้าเมืองผู้เป็นบิดามีความเศร้าโศกเสียใจเป็นอย่างยิ่ง ได้สั่งให้จัดการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้หมอจระเข้ 2 คน พร้อมประกาศชื่อวังนำ้ใหญ่แห่งนี้ว่า “วังสามหมอ” มาตั้งแต่บัดนั้น และวังสามหมอแห่งนั้น ก็กลายมาเป็นอำเภอวังสามหมอ จังหวัดอุดรธานี ในปัจจุบัน  ส่วนศพของลูกสาวนั้น เจ้าเมืองผู้เป็นบิดาได้ให้นำไปฝังไว้ที่ข้างคุ้มเจ้าเมือง และต่อมาไม่นานนักสถานที่ฝังศพของลูกสาวเจ้าเมืองก็มีต้นไม้ต้นหนึ่ง มีดอกสีขาว สวยงามมากเกิดขึ้นมา เจ้าเมืองคงคิดถึงลูกสาวมาก จึงตั้ง
ชื่อต้นไม้ต้นนั้นว่า “อินถวา” มาตั้งแต่บัดนั้น ต่อมา “ต้นอินถวา” ซึ่งมีดอกขาว ได้มีการปลูกกันแพร่หลายในภาคอีสาน และต่อมาได้แพร่พันธุ์ไปยังภาคกลางและภาคอื่น ๆ ของประเทศไทย และต้นอินถวานี้ในตำราพืช เรียกว่า “ต้นพุทธซ้อน” เป็นไม้ดอกที่ปลูกง่ายและปลูกได้ทุกเขตของดินฟ้าอากาศ และต้นไม้ชนิดนี้ มีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษเรียกว่าต้น “คาดิเนีย” อีกด้วย  
     ในช่วงท้ายของชีวิตของศิลปินผู้มีคุณูปการต่อวงการศิลปะในถิ่นอีสานท่านนี้    ท่ามกลางสายตาความสงสัยและคำถามมากมายจากคนส่วนใหญ่ในถิ่นทุรกันดาร  รอยสักมากมายในเกือบทุกส่วนของร่างกายของเขาก็ยังเป็นปริศนาให้ถกเถียงกันไม่รู้จบระหว่างด้านสุนทรียภาพและด้านความเชื่อทางไสยศาสตร์    ถึงแม้สุดท้ายพิษของโรคร้ายจะทำให้ดูเหมือนคน
เสียสติก็ตาม แต่ความระลึกถึง  ถวัลย์ ดัชนี  ศิลปินผู้เป็นบุคคลที่เคารพรัก  ชื่อนี้สลักป็นรอยสักบนกระหม่อมของ บุญหมั่น คำสะอาด ก่อนที่เขาจะลาโลกไปด้วยวัย 60 ปี กับอีก 5 เดือน ใน ปี พ.ศ. 2544

บทความโดย สุริยา นามวงษ์


************************

ขอบคุณที่มาดีๆจาก : http://www.mocabangkok.com/art_the_collection.php#

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น